ดันโลจิสติกส์รับเสรีอาเซียน

ดันโลจิสติกส์รับเสรีอาเซียน

     GPS เชียงใหม่

         

      ณรงค์ คองประเสริฐกลุ่ม 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน เร่งยกระดับโครงข่ายโลจิสติกส์รับเปิดเสรีอาเซียนเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงหวังให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ทัน ตั้งเป้าพัฒนาไปจนถึงการเปิดเสรีในปี 58
       
      นายชูชาติ กีฬาแปง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้รับมอบหมายจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์จังหวัดเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือ GMS ประจำปีงบประมาณ 2554 มูลค่าโครงการ 20 ล้านบาท เพื่อให้กลุ่มจังหวัดเกิดการปรับตัวภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียนภายในปี 2558 และการขยายตัวทางการค้าในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศหรือ GMS ได้

        

      นอกจากนี้เป้าหมายของโครงการนี้ เพื่อให้ธุรกิจโลจิสติกส์ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือมีการพัฒนาการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและมีการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการค้าระหว่างจังหวัดซึ่งจะออกมาเป็นลักษณะแผนแม่บท เช่น จังหวัดเชียงใหม่จะมุ่งเน้นการผลักดันเรื่องรถไฟความเร็วสูงและตลาดด้านการส่งออก จังหวัดลำปางเรื่องเซรามิก ด้านการขนส่งพลังงาน และสินค้าจังหวัดลำพูนเป็นการส่งเสริมด้านโลจิสติกส์พาร์ค เชื่อมโยงรถไฟ เครื่องบิน และรถยนต์และแม่ฮ่องสอนเป็นด้านการท่องเที่ยว ฯลฯ อันจะทำให้กลุ่มจังหวัดสามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์สามารถแข่งขันได้และผู้ประกอบธุรกิจ มีการเชื่อมโยงเครือข่าย และพัฒนาศักยภาพให้เท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงได้โดยเฉพาะการลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ลง
    
      นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่ากิจกรรมหลักของโครงการ มี 6 ย่อย คือ การจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน

1. เพื่อเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการและกำกับดูแลแผนปฏิบัติการไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

2.การจัดทำแผนแม่บทปฏิบัติการพัฒนาระบบโลจิสติกส์กลุ่มจังหวัดที่สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพของจังหวัดในกลุ่ม

3.พัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัดให้เกิดความรู้ความเข้าใจตลอดจนทักษะในการทำงานโดยใช้วิธีการทำงาน ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิต จัดเก็บและขนส่งแบบใหม่โดยมุ่งให้เกิดประสิทธิภาพและลดต้นทุนของโลจิสติกส์ของธุรกิจ

4. ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัดทั้งในภาคเกษตรอุตสาหกรรม และบริการ มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสารสนเทศในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่ทันสมัยในสถานประกอบการ

5.ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์เกิดความร่วมมือเชิงพันธมิตรหรือสร้างเครือข่าย
( Strategic Alliance) ระหว่างผู้ให้บริการของกลุ่มจังหวัดและในกลุ่ม GMS

6. การจัดตั้งศูนย์รวบรวมและแสดงสินค้าของกลุ่มจังหวัด ( Distribution and Exhibition Centers)
   
       "แผนแม่บทที่จัดทำขึ้น จะดำเนินการต่อในปี 2555 และยังมีแผนขยายผลต่อยอดไปถึงปี 2558 อันเป็นปีที่กรอบการค้าเสรีอาเซียนมีผลบังคับใช้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้ทั้งผู้ประกอบการภาครัฐ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในอนาคตและการเชื่อมโยงกับประเทศในกลุ่ม GMS นั้น"

   
       ด้านดร.ศักดิ์เกษม ระมิงค์วงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะผู้ร่วมดำเนินโครงการ เปิดเผยว่า กิจกรรมที่จะดำเนินการก่อน คือ การจัดประชุมฝึกอบรมและสัมมนา เพื่อการบริหารจัดการโครงการ ได้แก่ การจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาการจัดการด้านโลจิสติกส์ การพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ การอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและผู้ผลิตซอฟต์แวร์ และการสัมมนาจัดคู่ธุรกิจ business matching การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือแก่ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ ภายในกลุ่มจังหวัด ( networking) และผู้ประกอบการในประเทศกลุ่ม GMS และสร้างฐานข้อมูล ซึ่งจะใช้งบประมาณ 6 ล้านบาท โดยจะดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2554นี้โดยจะสัญจรไปให้ครบทั้ง 4 จังหวัด เป้าหมายของโครงการนี้ภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนโลจิสติกส์จากปัจจุบัน 18% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด หรือ GPP โดยตั้งเป้าให้ลดลง 2-3%
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,630 28-30 เมษายน พ.ศ. 2554
 

  

 
ที่มา: http://www.thannews.th.com

 1560
ผู้เข้าชม

gps

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์