โลจิสติกส์ ช่วยเพิ่ม หรือลดต้นทุนกันแน่ ?

โลจิสติกส์ ช่วยเพิ่ม หรือลดต้นทุนกันแน่ ?

     
         
     หากเรามีการพิจารณาดี ๆ แล้วก็จะพบว่า เครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยีและระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ลอจิสติกส์ ล้วนต้องจ่ายแพงมาก ๆ แทบทั้งสิ้นจนทำให้หลายกิจการที่มีเงินลงทุนน้อยแทบจะถอยกรูดและพร้อมที่จะหันหลังให้ทันที เพราะไม่แน่ใจว่าอีกสักกี่ปีถึงจะได้ทุนคืน ที่สำคัญก็มีหลาย ๆ บริษัทที่เจ๊งเพราะมีการลงทุนที่ผิดประเภทมาให้เห็นคาตากันมากแล้ว ทำให้หลายหน่วยงานเกิดความกล้า ๆ กลัวๆ ในการริเริ่มที่จะนำระบบลอจิสติกส์มาใช้

     ทีนี้ลองมาพิจารณาถึงวัตถุประสงค์หลักของลอจิสติกส์ดู พบว่าจริง ๆ แล้ว "ลอจิสติกส์" นั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับการลดต้นทุน แต่จะเน้นในเรื่องของการประสานงานและการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลและการประสานงานที่ดีก็จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย อาทิเช่น ระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ RFID เป็นต้น ซึ่งทุกคนก็ทราบดีว่าสิ่งเหล่านี้มีราคาแพงและต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

      จากแนวทางเหล่านี้ทำให้ผมหวนนึกถึงสมัยก่อนที่ผมเป็นพนักงานในบริษัทประกอบรถยนต์ของญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง เคยมีการถกเถียงกันในหมู่เพื่อนฝูงถึงระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี (just in time) ซึ่งผมและเพื่อน ๆ คิดว่าถ้ามีเงินหนาก็นำระบบ just in time มาใช้ได้เพราะทุกอย่างใช้เงินซื้อมาทั้งสิ้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้เงินก็คือ บริษัทนั้นจะเกิดต้นทุนมหาศาลทำให้ตั้งราคาขายไม่ได้ ลูกค้าไม่ซื้อ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจนั้นล้มละลายหายไปจากตลาดในที่สุดการที่จะใช้       just in time ได้อย่างยั่งยืน ก็สมควรที่จะเข้าใจถึงคู่ของมันที่มักจะถูกลืมไปด้วย (เหมือนกับศาสตร์ของหยินหยาง) นั่นก็คือ kaizen หรือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพราะ just in time เป็นตัวใช้เงิน แต่ kaizen เป็นตัวที่ช่วยให้ประหยัดเงิน ซึ่งบางครั้งสามารถประหยัดได้มากกว่าเงินที่ลงทุนไปเสียอีก

      ตัวอย่างที่เคยทำจริงและเป็นเรื่องง่าย ๆ ก็คือ การลดปริมาณการใช้ถุงมือโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ กล่าวคือ พนักงานประกอบจะสวมถุงมือผ้าฝ้าย 2 ชั้นในขณะทำงาน โดยมีการเบิกใช้ในช่วงเช้า 2 คู่ และถอดทิ้งเมื่อพักกลางวันซึ่งถุงมือก็มีสภาพที่สมควรทิ้งได้ และเมื่อทำงานช่วงบ่ายก็จะเบิกอีก 2 คู่และถอดทิ้งเมื่อเลิกงาน สรุปว่าพนักงานจะใช้ถุงมือวันละ 4 คู่

     แต่เมื่อพิจารณาอย่างถ้วนถี่พบว่าถุงมือที่สมควรทิ้งก็คือถุงมือคู่ที่อยู่ชั้นนอกส่วนถุงมือที่อยู่ชั้นในยังสามารถใช้ต่อได้ ดังนั้นจึงทำการเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ให้เหลือการใช้วันละ 2 คู่ โดยการเบิกใหม่ช่วงเช้าบ่ายยังคงเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือ เมื่อทิ้งถุงมือให้ทิ้งเฉพาะคู่นอกที่สกปรกแล้ว ส่วนคู่ในที่ยังขาวอยู่ให้เก็บไว้ และเบิกใหม่เช้าบ่ายเพียงครั้งละ 1 คู่ และให้สวมคู่ใหม่ไว้ข้างในคู่เก่าไว้ด้านนอกเสมอ

     เท่านี้ก็สามารถลดอัตราการใช้ถุงมือได้วันละ 2 คู่ต่อคน ถ้าถุงมือคู่ละ 1 บาทก็ประหยัดได้วันละ 2 บาทต่อคน หากมีพนักงาน 100 คน จะประหยัดได้ประมาณปีละ 60,000 บาท และถ้าพนักงาน 100 คนช่วยกันคิดแบบนี้คนละ 1 เรื่องปีนั้นจะช่วยให้บริษัทประหยัดเงินได้ถึง 6,000,000 บาท อย่าลืมว่านี่เป็นเพียงการคิดคนละ 1 เรื่องต่อปีเท่านั้น ถ้าหากคิดทุกคน เดือนละเรื่อง หรือสัปดาห์ละเรื่อง หรือวันละเรื่องจะเกิดอะไรขึ้น

     หากองค์การนำเงินที่ประหยัดได้เหล่านี้มาลงทุนก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการตั้งราคาขายและกำไรของธุรกิจอย่างแน่นอน เมื่อเราคิดให้ดีก็จะพบว่า "ลอจิสติกส์" ก็เหมือนกับ "just in time" คือเป็นแนวทางที่ดีมาก ๆ และจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่เงินลงทุนที่ควรนำมาใช้นั้นควรจะเป็นเงินที่องค์การสามารถประหยัดได้ จึงจะทำให้การดำเนินงานเป็นไปได้ด้วยความราบรื่นและยั่งยืน สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      ถ้าธุรกิจสามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ก็จะทำให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักของลอจิสติกส์ได้ไม่ยาก เพราะพนักงานทุกคนมีส่วนร่วมกันในการคิดและการทำงาน มีความเข้าใจระบบลอจิสติกส์อย่างชัดเจนก่อให้เกิดการประสานงานและการเชื่อมโยงที่ดี

      ดังนั้น "ลอจิสติกส์" จึงไม่ใช่เพีงแค่กระบวนการที่ลดต้นทุนโดยตรงอย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นกระบวนการที่ต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ มองหาจุดบกพร่องในการทำงานและนำมาแก้ไขปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

     การทำงานในอดีตที่ผ่านมาของธุรกิจไม่ได้ให้ความสำคัญในการปรับปรุงการทำงานอย่างจริงจัง ชอบแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้มีการดำเนินงานที่ไร้ประสิทธิภาพเป็นจำนวนมาก จึงมีการจ่ายเงินโดยไม่จำเป็นอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีการนำระบบลอจิสติกส์มาใช้จึงเกิดการพิจารณาการดำเนินงานอย่างจริงจังทำให้มองเห็นถึงกระบวนการที่ไม่จำเป็นและทำการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เป็นผลให้องค์การสามารถเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน (ที่ตัวเองทำหล่นไว้) ได้เป็นจำนวนมาก นี่คืออีกหนึ่งผลงานจากกิจกรรมลอจิสติกส์ที่ช่วยในการลดต้นทุนให้กับองค์การได้นั่นเอง



ที่มา : www.siaminfobiz.com  

 737
ผู้เข้าชม

gps

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์