GPS กับการบริหารธุรกิจแบบ Logistic

GPS กับการบริหารธุรกิจแบบ Logistic

            ในอดีตนั้นการจัดเส้นทางการเดินรถสำหรับขนส่งสินค้าหรือบริการสำหรับธุรกิจต่างๆอาจจะไม่ใช่ปัญหาหลักในการเดินทางมากนัก แต่ด้วยเหตุว่าในปัจจุบันนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ทั้งปริมาณของรถบนท้องถนนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ถนนก็ยังมีเท่าเดิม ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจในเรื่องของการขนส่งนั้นจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงจุดนี้มากขึ้น ซึ่งจีพีเอส(GPS) ถือเป็นตัวช่วยที่จะนำมาใช้ในการวางแผนและการบริหารงานด้านการขนส่งได้เป็นอย่างดี การทำงานก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่เคยเข้าใจเหมือนเช่นในอดีต ตั้งแต่รถเริ่มออกจากบริษัทหรือสถานที่เพื่อไปส่งสินค้าหรือบริการ เราก็สามารถใช้จีพีเอสเป็นตัวช่วยในการจัดเส้นทางการเดินรถเพื่อไปยังสถานที่เป้าหมายต่างๆ เราเรียกการจัดการนี้ว่าการจัดการด้านโลจิสติกส์(Logistics Management)

แม้จะมีเป้าหมายให้ไปหลายที่แต่ด้วยการจัดการด้านโลจิสติกส์นั้น สามารถจะเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดให้เราได้ ว่าจะวิ่งรถโดยใช้เส้นทางไหนที่จะใช้เวลาและระยะทางน้อยที่สุด เราสามารถรู้ตำแหน่งของรถด้วยว่ารถที่วิ่งออกจากบริษัทของเราแล้วกำลังอยู่ที่ใด พร้อมทั้งดูพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถได้อีกด้วยว่ามีการใช้รถอย่างไร เช่น ขับรถเร็วเกินหรือขับช้ากว่าที่เราต้องการไป จอดนานเกินไปหรือเปล่า มีการขับรถออกนอกเส้นทางที่วางไว้หรือไม่ และช่วยให้เราทราบปัญหาของการใช้รถได้ตลอดเวลา ซึ่งถ้าหากว่าเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นจะได้หาทางแก้ไขได้ทันท่วงที

ประโยชน์ที่ได้รับ

1. ในด้านการบริหารและจัดการยานพาหนะ

- วางแผนการใช้งานรถได้อย่างถูกต้องตามเส้นทางที่ต้องใช้จริงในการเดินทาง

- พนักงานขับรถไม่สามารถขับรถออกนอกเส้นทางได้

- วางแผนเพื่อควบคุมเวลาในการเดินทาง

- พนักงานขับรถไม่สามารถจอดหรือหยุดรถโดยไม่จำเป็น

- พนักงานขับรถต้องใช้รถตามความเร็วที่กำหนด

- สามารถกำหนดช่วงเวลาที่จะถึงสถานที่เป้าหมายให้กับพนักงานขับรถได้

- สามารถประเมินเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในการใช้รถ

- วางแผนเส้นทางในการเดินทางให้สอดคล้อง และสัมพันธ์กับปริมาณงาน

- วางแผนการใช้รถสำหรับขนส่งในกรณีที่มีผู้ต้องการใช้รถหลายราย

- วางแผนการเดินทางในการเข้าพบลูกค้า ในกรณีที่ต้องการติดต่อธุรกิจหลายราย

2. ลดต้นทุนค่าน้ำมันและค่าซ่อมแซม

- ควบคุมพนักงานขับรถให้ไม่ขับรถเร็วเกินกว่าที่เรากำหนด

- ควบคุมพนักงานขับรถให้ไม่สามารถนำรถไปใช้ส่วนตัว

- แก้ไขปัญหาที่พนักงานขับรถสตาร์ทรถแล้วเปิดแอร์นอน

- รถจะถูกใช้งานตามระยะทางและสภาพความเป็นจริง

3. ป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้น

- ได้ข้อมูลของสถานที่เป้าหมายที่ต้องไป หรือข้อมูลของสถานที่ต่างๆตลอดเวลา ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางที่อาจทำให้เสียเวลาในการเดินทางได้

- สามารถบอกเส้นทางล่วงหน้าให้กับพนักงานใหม่ หรือพนักงานที่ยังไม่รู้จักเส้นทาง เพื่อป้องกันการหลงทางโดยไม่จำเป็นได้

4. สร้างเป็นฐานข้อมูลหลักเพื่อนำไปใช้ในองค์กร

- สร้างเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนการบริการและจัดการยานพาหนะ

- วางแผนการซ่อมบำรุงยานพาหนะ

- วางแผนการตลาดและการจัดส่ง

- วางแผนการบริหารงานบุคคล เช่น ควบคุมพฤติกรรมการขับรถของพนักงานขับรถ

 12208
ผู้เข้าชม

gps

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์